จับตาอนาคตความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย
หลังการหารืออย่างเป็นทางการหลายชั่วโมงระหว่างประธานาธิบดีสีจิ้นผิงและประธานาธิบดีปูตินเมื่อวานนี้ ทั้ง 2 ชาติ ประกาศความเป็นพันธมิตรที่แนบแน่น รวมทั้งลงนามความร่วมมือหลายฉบับคำพูดจาก เว็บสล็อต
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดในครั้งนี้ทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ คือ จีน
ภาพของการพบกันในวันที่ 2 ของประธานาธิบดีสิจิ้นผิงและประธานาธิบดีปูตินที่เกิดขึ้นที่พระราชวังเครมลิน ก่อนที่ทั้งสองจะเริ่มหารือกันอย่างเป็นทางการ หนึ่งในหัวข้อของการหารือคือ สงครามในยูเครน
"สี จิ้นผิง" เยือนรัสเซียกระชับสัมพันธ์ไร้ขีดจำกัด
ใครมีหัวรบนิวเคลียร์มากกว่ากัน? หลังปูตินส่อใช้นิวเคลียร์อีกครั้ง
มีรายงานว่าผู้นำทั้งสองพูดคุยในรายละเอียดของแผนสันติภาพ 12 ข้อ ที่จีนเสนอไว้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยข้อที่สำคัญที่สุดในแผนสันติภาพ คือ การเสนอให้ยูเครนและรัสเซียหยุดยิงและขึ้นโต๊ะเจรจา
อย่างไรก็ตามพันธมิตรของยูเครนออกมาประกาศว่าไม่สามารถรับแผนของจีนได้ เพราะใน 12 ข้อ ไม่มีเรื่องที่สำคัญที่สุด นั่นคือ การขอให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครน
จนถึงขณะนี้ รัสเซียยึดดินแดนของยูเครนไว้ประมาณร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ โดยทั้งหมดอยู่ 4 แคว้นที่รัสเซียประกาศผนวกไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว นั่นก็คือ โดเนตสก์ ลูฮันสก์ เคอร์ซอน และซาโปริซเซียดังนั้นหากยูเครนรับแผนสันติภาพของจีนจะเท่ากับเป็นการยอมรับว่า ดินแดนเหล่านี้เป็นของรัสเซีย
แผนสันติภาพของจีนที่ไม่มีการพูดถึงเรื่องการถอนทหารจึงถูกมองว่า เป็นแผนที่ไม่เคารพอธิปไตยและบูรณภาพดินแดนของยูเครน แต่เป็นแผนช่วยประธานาธิบดีปูตินให้ออกจากการติดหล่มสงคราม
เพราะสำหรับประธานาธิบดีปูติน ในวันที่ไม่สามารถยึดยูเครนได้ทั้งประเทศตามแผน การได้ดินแดนทั้ง 4 ก็อาจเพียงพอแล้วในการเอาไปประกาศกับชาวรัสเซียว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” ในยูเครนประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ประธานาธิบดีปูตินจะออกมาระบุว่าเห็นด้วยกับแผนสันติภาพของจีน
โดยหลังการหารือ ผู้นำทั้งสองออกมาแถลงข่าวร่วมกัน โดยประธานาธิบดีปูตินระบุว่า สิ่งที่จีนเสนอตรงกับที่เขาคิดไว้ และเขาพร้อมที่จะพูดคุยสันติภาพ แต่ฝ่ายที่ไม่พร้อมคือยูเครนและพันธมิตร
ขณะที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงออกมาปกป้องแผนสันติภาพที่เสนอไป โดยระบุว่า นี่เป็นแผนที่ยึดตามกรอบของกฎบัตรสหประชาชาติ ไม่ได้เป็นแผนที่ลำเอียงหรือเจตนาเข้าข้างฝ่ายใด
หลังการแถลงของผู้นำจีนและรัสเซีย พันธมิตรของยูเครนอย่างสหรัฐฯ ออกมาตอบโต้ทันที จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุว่า แผนสันติภาพที่ไม่มีการขอให้รัสเซียถอนทหารออกจากดินแดนยูเครน ไม่ใช่เป็นแผนที่ยึดกฎบัตรของสหประชาชาติอย่างแน่นอน เพราะหลักการพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติคือการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพดินแดนของชาติอื่น และถ้าจีนมีความจริงใจก็ควรขอให้รัสเซียถอนทหารจากดินแดนของยูเครน
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีท่าทีจากยูเครนว่าคิดอย่างไรต่อแผนและจุดยืนของจีน แต่มีรายงานว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงอาจยกหูโทรศัพท์คุยกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีในเร็วๆนี้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการหยุดยิงระหว่างยูเครนและรัสเซียเพื่อขึ้นโต๊ะเจรจาจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน การเสนอแผนสันติภาพของจีนและการเดินทางเยือนรัสเซียของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เป็นเพียงการเริ่มต้นผลักดันตัวเองให้กลายมาเป็นผู้สร้างสันติภาพของโลกเท่านั้น
นอกจากสถานะผู้สร้างสันติภาพแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สีจิ้นผิงได้จากการเยือนรัสเซียครั้งนี้คือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สองสิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน
หลังการหารือเสร็จสิ้นเมื่อวาน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีปูตินลงนามร่วมกันในเอกสารที่เรียกว่า “ความร่วมมือด้านยุทธศาตร์”
โดยหนึ่งในข้อตกลงที่สำคัญที่สุดในเอกสารนี้คือ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากไซบีเรียไปที่จีน ที่เรียกว่า "โครงการท่อส่งก๊าซไซบีเรีย 2" ซึ่งก่อนหน้านี้รัสเซียและจีนซื้อขายพลังงานในแถบนี้อยู่แล้ว
เมื่อปี 2019 รัสเซียการเปิดใช้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติขนาดยักษ์ที่มีชื่อว่า “พลังงานแห่งไซบีเรีย” หรือ Power of Siberia ที่มีความยาวรวมกว่า 3,968 กิโลเมตร
สำหรับท่อก๊าซจากรัสเซียถึงจีนนั้น มีจุดเริ่มต้นจากภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย และไปสิ้นสุดที่มณฑลเหลียวหนิงทางภาคตะวันออกของจีน ความยาวของท่อตรงจุดนี้ประมาณ 2,100 กิโลเมตร และสามารถส่งก๊าซธรรมชาติไปที่จีนได้สูงสุดถึง 38,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ส่วนโครงการท่อส่งก๊าซไซบีเรีย 2 หรือท่อส่งก๊าซอัลไต เป็นโครงการในอนาคตที่จะสร้างท่อส่งก๊าซที่มีความยาวกว่า 3,000 กิโลเมตร จากสถานีขุดเจาะก๊าซในคาบสมุทรยามาล ทางตอนเหนือของรัสเซีย ผ่านประเทศมองโกเลีย เพื่อเข้าไปยังมณฑลเฮยหลงเจียง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
นอกจากนี้ ในอนาคตทางการรัสเซียวางแผนที่จะเชื่อมต่อท่อก๊าซไซบีเรีย 1 และ 2 เข้าด้วยกัน โดยจะเชื่อมท่อก๊าซไซบีเรีย 1 กับแหล่งขุดเจาะชายันดาและเออร์คุตสก์ ก่อนที่จะมาเชื่อมต่อกับท่อก๊าซไซบีเรีย 2
นี่จะทำให้ระบบท่อส่งก๊าซเชื่อมโยงกันมากขึ้นในอนาคต และสามารถส่งพลังงานไปยังจีนได้ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น
โดยรัสเซียคาดว่าจะเริ่มโครงการนี้ได้ในปี 2024 หรือปีหน้า และจะเริ่มส่งก๊าซล็อตแรกกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตรได้ในภายในปี 2030 หรือ 6 ปีหลังจากนี้ ที่ผ่านมา จีนได้พยายามนำเข้าพลังงานจากที่นี่แทนการซื้อพลังงานจากตะวันออกกลางด้วย 2 เหตุผล
เหตุผลแรกคือความมั่นคง การนำเข้าพลังงานจากตะวันออกกลางมีความเสี่ยงจากการเดินทาง เนื่องจากต้องผ่านช่องแคบมะละกาและทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาท
เหตุผลที่สองคือ เรื่องราคา พลังงานจากรัสเซียมีราคาถูกกว่า เนื่องจากขนส่งใกล้กว่า และราคาพลังงานจากรัสเซียก็ยิ่งถูกลงอีก หลังรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากประชาคมโลก การถูกคว่ำบาตรทำให้รัสเซียต้องลดราคาพลังงานลงเพื่อหาตลาดใหม่ๆ
จีนเป็นหนึ่งในชาติที่ไม่สนใจการคว่ำบาตรและเดินหน้าสั่งซื้อพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย จนทำให้ขณะนี้จีนคือผู้ซื้อพลังงานรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย โดยมากกว่าร้อยละ 60 ของพลังงานที่รัสเซียผลิตถูกส่งไปที่จีน
ในการแถลงข่าวเมื่อวาน ผู้นำรัสเซียไม่ได้ปิดบังข้อเท็จจริงตรงนี้ โดยเขาระบุว่าตอนนี้จีนคือผู้ซื้อพลังงานรายใหญ่ และจะซื้อมากขึ้นอีกในอนาคต โดยจะส่งผ่านท่อก๊าซไซบีเรีย 2 ที่เพิ่งตกลงกัน
ขณะที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงระบุว่า การลงนามในเอกสาร “ความร่วมมือด้านยุทธศาตร์” คือสัญญานว่า ความร่วมมือของ 2 ชาติที่ทำต่อจากนี้จะไม่มีขอบเขตและไม่มีที่สิ้นสุด
ขณะที่วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการเยือนรัสเซียของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง สิ่งที่ประชาคมโลกได้เห็นตลอดในช่วง 3 วันที่ผ่านมา คือภาพความสัมพันธ์ที่ดูแนบแน่นขึ้นระหว่างจีนและรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นจุดยืนของทั้งคู่ที่มีต่อสงครามในยูเครนและความร่วมมือด้านการค้า
อย่างไรก็ตาม ภาพที่ดูแนบแน่นขึ้นของ 2 ชาติก็ถูกตั้งคำถาม นักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า ดูจากภาพแล้วนี่อาจไม่ใช่ความสัมพันธ์ในฐานะของหุ้นส่วนที่มีความเท่าเทียมกันอีกต่อไป เพราะเห็นได้ชัดว่ารัสเซียอยู่ในสถานะที่จำเป็นต้องพึ่งพาจีน มากกว่าที่จีนต้องพึ่งพารัสเซีย